เมื่อพูดถึง “พระปิดตา” หลายๆ คนคงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะรู้ถึงประวัติที่แท้จริงว่าพระปิดตานั้นมีประวัติและที่มาอย่างไร
ความจริงแล้วนั้น พระปิดตาไม่ใช่ชื่อของพระ แต่เหตุผลที่เรียกพระปิดตาเพราะมาจากลักษณะขององค์พระที่เป็นการยกพระหัตถ์ ปิดพระพักตร์ มิใช่ยกพระหัตถ์ปิดพระเนตร (ตา) แต่ปิดรวม ตา หู จมูก ปาก และดวงหน้าซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของกาย ส่วนใจเป็นนามก็ปิดโดยสมมุติ นับเป็นอาการสำรวมอายตนะ 6 ประการนั่นเอง
ประวัติพระปิดตากับตำนานการสร้างพระปิดตาในประเทศไทย
"พระปิดตา" อายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยนั้นยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด บางท่านเคยพบว่า พระปิดตางบน้ำอ้อยขนาดใหญ่เนื้อดินเผา อยู่ในกรุเมืองกำแพงเพชร แต่ว่ามีน้อยองค์และหายาก บางท่านว่าพระปิดตาพิชัย กรุคลองตะเคียนกรุวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างด้วยเนื้อดินผสมผงใบลานเผา น่าจะมีอายุเก่าที่สุดเพราะสืบได้ว่าสร้างใน สมัยกรุงศรีอยุธยายุคปลาย และมีให้เล่นหากันพอสมควร หรือบางท่านว่าอาจจะเป็น พระปิดตาท้ายย่าน จากกรุวัดท้ายย่าน จังหวัดชัยนาท เป็นพระปิดตาที่สร้างมาจากเนื้อแร่ดินพลวงผสมชิน ผู้รู้ว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน
และ อีกตำนานได้กล่าวถึง “พระปิดตา” ว่าคือพระมหากัจจายน์เถระเจ้า ปางอธิษฐานเนรมิตกาย ความเดิมมีว่าท่านพระมหากัจจายนะเถระเจ้าท่านนี้ เป็นเอตะทัคคะในการขยายความย่อให้พิสดาร และเป็นผู้วางหลักสูตรพระบาลีมูลกัจจายน์ คือการสอนพระบาลีไวยากรณ์ในสมัยก่อน เกิดในวรรณะพราหม์ในสกุลกาญจนโคตร ประกอบผิวพรรณวรรณะ อาการแห่งลีลารวมทั้งวรกายละม้ายคล้ายองค์พระบรมศาสดาเจ้า หากดำเนินมาแต่ไกล ผู้คนมักจะจำผิดพากันคิดว่าพระพุทธองค์เสด็จและแม้แต่เทพยดาก็พากันหลงผิด ลีลาสง่างามยิ่งนัก เป็นที่เสน่หานิยมชมชอบของเทพยดาแลมนุษย์ชายหญิงทั้งหลาย และพากันถวายฉายาว่า “ควัมปติ” แปลว่าผู้มีวรกายแลละม้ายคล้ายพระศาสดา (ได้ค้นศัพท์ในพจนานุกรมแล้วไม่มีปรากฏ)
โดยหลักๆ พระปิดตาจะมีทั้งหมด 3 ประเภท
พระปิดตาชนิดปิดตานั่งยองความหมายเดิมคือ พระโพธิสัตว์เจ้าในพระครรภ์ เรียกว่าพระมหาอุด หรือเป็นพระปิดทวารทั้งเก้าเต็มภาค ไม่มีคำเรียกอย่างอื่น
พระปิดตาชนิดปิดตานั่งขัดสมาธิยกหัตถ์ปิดทวารทั้งเก้า ความหมายเดิมคือพระเจ้าเข้านิโรธ ควรใช้ศัพท์เรียกว่า “ภควัม”ไม่มีคำว่าพระนำหน้าและไม่มีคำบดีหรือปติตามหลัง จะเรียกภควันต์ก็ไม่ได้ เพราะคำศัพท์หมายถึงพระอิศวรหรือนามแห่งพระพุทธเจ้า ภควัม ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานหมายความถึงพระปิดทวารทั้งเก้าปิดตาคว่ำพระพักตร์ จนมีคำพังเพยว่า”หน้าคว่ำเป็นภควัมเจียวนะ”หมายถึงสาวแสนงอน มองไปหลายตลบ ก็ไม่พบพระปิดตาหน้าคว่ำคำราชบัณฑิตหมายถึง ผู้แปลบาลีท่านจะเป็นนักพระเครื่องด้วยหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
พระปิดตา ชนิดปิดตานั่งขัดสมาธิ ยกหัตถ์ทั้งสองขึ้นปิดพระพักตร์ เว้นส่วนอื่น เป็นพระเมตตามหานิยมและลาภผล เรียกว่า “พระควัมปติ” พระปิดตาทั้ง 3 ชนิดมีทั้งฝ่ายบู้ ฝ่ายบุ๋น ซึ่งความหมายไม่ได้คล้ายคลึงกันเลย แต่ก็ยังมีบุคคลบางท่านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นประเภทเดียวกัน จำต้องสังคายนาให้เห็นชัดสักครั้ง เพราะมิผู้นิยม"พระปิดตา"กันมาก
สำหรับพระปิดตาที่ได้รับความนิยมที่สุด คือ พระปิดตานั่งขัดสมาธิ ยกหัตถ์ทั้งสองขึ้นปิดพระพักตร์ เว้นส่วนอื่นเป็นองค์สมมุติ ของพระอรหันตเจ้าพระองค์หนึ่ง อิทธิคุณเน้นหนักไปในทางนิ่มนวล เมตตามหานิยม เสน่ห์ ลาภผล แคล้วคลาด การจัดสร้างเนื้อหาก็แตกต่างกัน ความมุ่งหมายของการสร้าง เป็นไปได้ทั้ง บุคคลาธิษฐาน และธรรมาธิษฐาน นิยมเรียกกันว่า “พระควัมปติ”โดยพระควัมปติ หมายถึงพระอรหันต์รูปใดในตำนานพุทธสาวกกล่าวว่า ท่านคือพระควัมปติเป็นพระสาวกรุ่นแรกๆ ของพระพุทธองค์ ก่อนอุปสมบทดำรงฐานะอยู่ในขั้นเศรษฐีมีทรัพย์ ระดับเดียวกันกับ ยสมานพ(อ่านยะสะ) เป็นเพื่อนเกลอรักใคร่ชอบพอกันมาก ครั้งเกิดธรรมาพิสมัย จึงพร้อมใจกันอุปสมบทในสำนักของพระบรมศาสดา ภายหลังต่อมาได้บรรลุอรหันต์ทั้งสองรูปท่านพระควัมปติทรงเป็นเอตะทัคคะ 1 ในพระอรหันต์ผู้ทรงเอตะทัคคะ 80รูปในด้านอินทรีย์สังวร ท่านบรรลุซึ่งเตวิชโชหรือวิชชาสาม เชี่ยวชาญในอิทธิวิธี เชียวชาญทางวิปัสสนากรรมฐาน เคยใช้ฤทธิ์ห้ามกระแสน้ำในลำน้ำสรภู ซึ่งไหลเชี่ยวให้หยุดไหลได้ อาการที่สำรวมทั้งภายนอกภายในโดยเคร่งครัดสม่ำเสมอนี้ ทำให้เทพยดาแลมนุษย์พากันเคารพสรรเสริญ ต่อมาได้พากันสร้างรูปของท่านเพื่อสักการบูชาลักษณะการยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระพักตร์จัดเป็นธรรมาธิษฐาน มิใช่บุคคลธิษฐาน เพราะการสำรวมอายะตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่จำเป็นต้องปิดหน้า"พระปิดตา" แต่เป็นการแสดงความหมายให้ทราบเท่านั้น
ปัจจุบันพระปิดตาถือว่าเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมและมีราคาสูงไม่แพ้พระเครื่องรุ่นอื่นเลย ซึ่งทำให้พระปิดตากลายเป็นพระที่เหล่าเซียนพระอยากจะจับจองเป็นเจ้าของมากเลยทีเดียว>